livescoreza.com
Menu

ความสุขพอ อาจไม่ใช่ความพอเพียง

จากตัวอย่างข้างต้นอาจมองไปอีกมุมก็ได้ เช่นว่า คนชอบปั่นจักรยานอาจไม่อิจฉาคนขับรถสปอร์ตก็จริง แต่ก็มีโอกาสอิจฉาคนที่มีจักรยานสวย หรือจักรยานรุ่นใหม่ได้อยู่ดี รวม ๆ แล้ว คนที่ไม่อิจฉาคือคนที่รู้จักพอมากกว่า…

คนที่พอใจในสิ่งที่ตนมี ย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่คล้ายที่กล่าวไปข้างต้นว่า ริษยา มีระดับความแตกต่างกับอิจฉา และในความอิจฉาเอง ก็มีระดับย่อยลงมา ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกใช้แทนด้วยคำว่าอะไร บางครั้งเราแค่ “หมั่นไส้”, “อยากได้บ้าง” กระทั่ง อิจฉา ก็เป็นคำหยอกล้อเชิงบวกได้ในหลายกรณี ที่การแบ่งแยกคงอยู่ที่ว่ารู้สึก “ทุกข์” หรือไม่จากการอิจฉานั้น

ดังนี้หากใครคนหนึ่งที่ชอบปั่นจักรยาน แม้อาจอิจฉาคนมีจักรยานรุ่นใหม่ แต่ก็ยากจะถึงขั้นริษยา หรืออยากได้บ้างจนเป็นทุกข์ เว้นเสียแต่ว่า เขาไม่ใช่ผู้มีความสุขจากการปั่นจักรยานโดยแท้จริง และนี่กำลังหมายถึงว่า บางครั้ง “ความสุขพอ” ก็ไม่จำเป็นต้องพอเพียง หรืออยู่ในลักษณะที่ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เพียงแต่เป็นผู้รู้ว่ากรอบความสุขของตนอยู่ที่ไหน และการที่ยังมีความต้องการ ในอีกด้านก็อาจเป็นแรงขับ แรงผลักให้ก้าวหน้าไขว่คว้าในสิ่งที่ต้องการ ที่เป็นเป้าหมายอันมีความสุข ที่สำคัญความรู้สึกเช่นนี้มันจะแตกต่างอย่างมาก เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความสุขเอาเสียเลย แล้วได้แต่อิจฉา…

อิจฉาเพราะไม่มีความสุข?

เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ค่อยมีความสุขกับเรื่องหนึ่ง เราย่อมรู้สึกได้ถึงความอิจฉา ไม่พอใจได้ง่าย ตัวอย่างในด้านตรงกันข้ามแบบชัดเจน เช่น หากทีมกีฬาที่เราเชียร์แพ้ต่ออีกทีม แล้วเราเห็นทีมคู่แข่งได้ถ้วยแชมป์ไป เราย่อมอิจฉาในใจประมาณหนึ่ง แต่ถ้าทีมเราเป็นฝ่ายได้แชมป์ เราจะไม่รู้สึกอิจฉาอีกฝ่ายสักนิด ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างง่าย ๆ ที่ให้เห็นด้านตรงข้ามกันแบบชัดเจน

ซึ่งหากคนหนึ่งไร้ซึ่งความสุขของตัวเอง คล้ายไม่มีเป้าหมายชีวิตที่มีสุข ผู้นั้นย่อมไม่ค่อยยินดีต่อการได้มาซึ่งความสุขของใคร โดยไม่เกี่ยวว่า คนนั้นเขาจะเคยมีมากกว่า มีน้อยกว่า หรือไม่มีก็ตาม เช่น คนที่มี จักรยานหลายคัน แต่หมั่นไส้คนที่เพิ่งมีจักรยานคันแรก แบบอิจฉา หมั่นไส้ที่เขามี แทนที่จะ รู้สึกยินดีที่จะได้มีเพื่อนร่วมปั่น เพื่อนร่วมวงการ ก็ยิ่งสะท้อนชัดว่า แท้จริงเขาไม่มีได้มีความสุขกับสิ่งนี้ อาจต้องการเพียงเอาชนะ หรือสะใจในความไม่มีของคนอื่นเท่านั้น

ในช่วงที่เราขัดสนเงินทอง เราอาจอิจฉา ไม่สบายใจที่เห็นคนอื่นซื้อของใหม่ มีเงินท่องเที่ยว หรือกินหรูดูดี อะไรที่คล้ายกันนี้ ที่ลึก ๆ ดูเหมือนว่าเราอยากดึงเขาให้ต่ำลง ดึงเขาให้ทุกข์ในแบบเดียวกับเรา นั่นคือภาวะความอิจฉาเพราะไม่มีความสุข

อีกตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนคงเคยมีประสบการณ์สัมผัสได้ คือเมื่อเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันมาคนหนึ่งก้าวหน้าเติบโต มีฐานะบางอย่าง แต่เวลาเจอหน้าเขาแทนที่จะชื่นชมให้เกียรติ เรากลับเรียกชื่อล้อเขาเหมือนวัยเด็ก เพื่อดึงเขาลงให้อยู่ระดับเดียวกับเราที่ต่ำต้อยกว่าทางสังคมเป็นต้น ซึ่งแต่ละคนอาจแสดงออกอะไรแปลก ๆ แบบไม่รู้ตัวได้ในตอนที่อิจฉาเพราะตัวเองไม่มีความสุข ไม่มีความภาคภูมิใจเหมือนเขา ที่สำคัญในตอนนั้นเรามักไม่รู้ตัวหรอกว่า เรากำลังอิจฉา…

ถ้าตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ แล้วเราจะหาสุขที่เป็นของเราเจอได้อย่างไร ในเมื่อจิตใจขุ่นมัว จดจ้อง จดจ่อกับสิ่งที่ไม่สวยงามทางใจเราเอง เมื่อใจมีทุกข์ ควรดับทุกข์ของตน เมื่อใจไม่มีความสุข ควรหาสุขแท้ของตน ไม่ใช่คิดทำลายสุขคนอื่น ทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความอิจฉาลึก ดึงคนอื่นให้ลงมาเทียบเท่าตน เพราะสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่มีวันทำให้เรามีความสุขได้เลย

โพสต์โดย : bewtee bewtee เมื่อ 27 ก.ค. 2567 16:28:19 น. อ่าน 9 ตอบ 0

facebook