ถ้าทำแบบนี้ “อย่าทำดีกว่า” .. กับ อย่างน้อยก็ “ดีกว่าไม่ทำอะไร” ระหว่างสองประโยคเหล่านี้ เราคิดเห็นหรือรู้สึกว่าเห็นด้วยหรือไม่ ในทางใด? ตกลงควรทำ หรือไม่ควรทำ?
บทความนี้เป็นอีกหนึ่งมุมคิด หรือข้อคิดที่อาจเกิดขึ้นกับบางสถานการณ์ โดยอย่างยิ่งในภาวะไม่ค่อยปกติอย่างในปัจจุบัน เพราะยามปกติ ความพยายาม ย่อมเป็นเรื่องที่ดีในการที่จะทำอะไร ๆ ให้เกิดผลขึ้นมา แต่ในบางภาวะ ความพยายาม อาจทำให้ยิ่งแย่ลง หรือไม่ทำดีกว่า
ตัวอย่าง ร้านอาหารริมทางรายหนึ่ง หลังจากเกิดการประกาศ lockdown ล็อกดาวน์ ห้ามให้คนนั่งทานในร้าน ย่อมทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก อาจคิดได้ทันทีว่า ก็ขายออนไลน์/รับส่งสิ ได้ ทว่าด้วยความที่ร้านอยู่ตำบลเล็ก ๆ ต่างจังหวัด ไม่มีบริการส่งผ่านแอพใด ๆ มาถึงเลย…
งั้นส่งเองสิ.. นั่นเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ลูกค้าก็จะมีแค่ขาประจำไม่กี่รายที่รู้จักกัน มีเบอร์โทรกันจึงสั่งได้ และไปส่งให้ได้ถูกที่ ซึ่งมันก็ไม่ทำให้ขายดีขึ้นเลย อีกประการข้าวกล่อง 25-35 บาทจะคิดค่าส่ง 15-40 บาทเหมือนแอพนั้น ชาวบ้านก็คงมองว่าแพง… แม่ค้ารายนี้จึงคิดว่า ย้ายทำเลดีกว่า.. บนความคิดที่ว่า “ดีกว่าไม่ทำอะไร”
กับดักของความรู้สึกว่า “ดีกว่าไม่ทำอะไร”
การย้ายทำเลของแม่ค้ารายนี้ อาจทำให้มีขาจรผ่านมาเห็นเกิดลูกค้าใหม่ ๆ บ้าง ดูเหมือนจะดี แต่นี่เรากำลังอาจโดนกับดักของความรู้สึกว่า “ดีกว่าไม่ทำอะไร” อยู่ก็เป็นได้
เพราะส่วนหนึ่งคนเราชอบ วัดผลจากความรู้สึก มากกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ การย้ายที่ใหม่ ทำเลใหม่ เจอลูกค้าใหม่ มันสร้างความรู้สึกใหม่ ๆ คล้ายเรากำลังสนุก ตื่นเต้นบนความแปลกใหม่ ก็คิดเอาว่านี่มัน “ดีกว่าเดิม” แต่หากมองความเป็นจริง จะดีกว่าหรือไม่นั้น มันต้องวัดผลจากจำนวนลูกค้า มิใช่ความรู้สึกแปลกใหม่ หรือหน้าตาลุกค้าที่เปลี่ยนไป
ในอีกด้าน ลูกค้าจากทำเลเก่า ผ่านร้านเก่าหรือไปที่ร้านเก่า อาจสงสัยว่าเลิกกิจการไปแล้ว ไปกี่ทีร้านก็ปิดก็ไม่อยากไป ลูกค้ากลุ่มเดิมจึงมีโอกาสหนีไปเป็นลูกค้าร้านอื่นได้
มากกว่านั้นการไปที่ใหม่ มันก็มีค่าเช่าที่เพิ่ม การจัดการที่ยุ่งยากกว่าเพราะต้องขนข้าวของไป รวม ๆ คือมีต้นทุนที่มากขึ้นและจากสถานการณ์โควิด ลูกค้าไม่มีทางจะมากกว่าเดิมด้วยการย้ายทำเลที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน สุดท้ายพอย้ายกลับมาร้านเดิม ลูกค้าใหม่ก็ใช่ว่าจะตามมา ลูกค้าเก่าก็อาจหนีไปเป็นลูกค้าร้านอื่นเสียแล้ว…
ก็พยายามแล้ว…
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อผลเป็นเช่นนี้ แม่ค้าก็ได้แต่กลับมาอยู่บนความรู้สึกเดิมว่า “ทำไมขายไม่ดี?” ซึ่งหากมีใครมาบอกว่า ทำไมไม่ทำเช่นนั้น เช่นนี้ แม่ค้าก็จะรู้สึกว่าไม่ใช่ไม่ทำอะไร ที่ผ่านมา “ก็พยายามแล้ว…”
ส่งผลให้ในสิ่งที่คนอื่นแนะนำ หรือนำเสนอดูไม่มีน้ำหนัก เนื่องจากแม่ค้าไม่อยากจะลอง ไม่อยากลงทุน หรือพยายามอีก เนื่องจากความพยายามหมดไปกับการทำในครั้งก่อน
สิ่งหนึ่งพึงต้องเข้าใจว่า มันเป็นปกติธรรมดา แรงใจเราทุกคนมีขีดจำกัด ถ้าผิดมา หรือ พลาดมาก ๆ มันเหนื่อยท้อเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ว่าในตอนที่ตัดสินใจผิดพลาดนั้น ไม่มีใครรู้เห็นตัวเองได้ชัดเจนหรอก เพราะถ้าวิเคราะห์ได้เราคงไม่เลือกทำ..
ดังนั้นแล้ว ระหว่าง “ดีกว่าไม่ทำอะไร กับ อย่าทำอะไรดีกว่า” เบื้องต้นก็คงอยู่ที่การคิด วิเคราะห์ให้รอบด้าน หลายคนรู้สึกว่าไม่ชอบ คิดมาก ซึ่งบางครั้งมันอาจไม่ใช่คิดมากในเชิงลบ แต่มันหมายถึงความ รอบคอบ ซึ่งแม้หมิ่นเหม่กับคำว่าวิตกได้เช่นกัน แต่ยังไงก็ดีกว่าไม่คิดหรือคิดน้อยเกินไป
แง่คิดเรื่องนี้คือ แม้ในสถานการณ์ที่ต้อง รีบดิ้นรน แต่ต่อให้รีบยังไง ก็ต้องสละเวลาคิดให้เป็นแบบแผน ระวังจะเป็นความคิดที่ “แค่รู้สึกว่าจะดี” หรือคงจะดี เพียงเฉย ๆ หรือควรหาวิธีลดอคติ ลดการคิดไปเอง เช่น ปรึกษาคนที่ดูน่าเชื่อถือในเรื่องนั้น ๆ (แล้วเชื่อเขาบ้างด้วยล่ะ) ซึ่งคงพอทำให้ไม่ทำอะไรที่ “อย่าทำดีกว่า” ได้ไม่มากก็น้อย
หรือที่สุดแล้ว ไม่มีใครรู้แน่ชัดหรอกว่ามันจะ “ดีกว่าไม่ทำอะไร” จริงไหม ดังนั้นทำอะไรควรมีแผนเผื่อ แผนสำรอง ที่สำคัญคือไม่ลืมเตรียมใจให้เข้มแข็ง เพราะหากกำลังใจไม่หมด ย่อมมีแรงที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ได้ต่อเสมอ แบบนี้ทำไปเถอะ ดีกว่าคิดมากแทบตาย แล้วทำไปครั้งเดียวก็ท้อ ก็เลิก…
มีแรงใจที่ดีทุกครั้งเมื่อลงมือทำ ล้มแล้วลุกไว เรียนรู้ได้ ยังไงก็ดีกว่าไม่ทำอะไรแน่นอน
โพสต์โดย : bewtee เมื่อ 31 ก.ค. 2567 06:33:33 น. อ่าน 25 ตอบ 0